เช็คลิสต์ วัคซีนเด็กและวัคซีนทารก เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงของลูกน้อย
เมื่อลูกน้อยคลอดออกมาหน้าที่สำคัญของพ่อแม่ที่ต้องใส่ใจให้มาก นอกจากการดูแลพื้นฐานแล้ว ย่อมหนีไม่พ้นการให้ลูกได้รับ “วัคซีนเด็ก” อย่างถูกต้องและครบถ้วน ลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคอันตรายเมื่อเขาเติบโตในอนาคต จึงอยากพาทุกคนมาเช็คลิสต์วัคซีนในเด็กกันสักนิด ว่าตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงอายุต่าง ๆ ควรต้องฉีดตัวไหนกันบ้าง
ทุกประเทศล้วนให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนในเด็ก
เด็กถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญของโลกในอนาคต นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทุกประเภทล้วนให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนในเด็กมาก ปกติแล้วประเภทของวัคซีนเด็กทั่วโลกที่ใช้ รวมถึงช่วงอายุในการฉีดแทบไม่แตกต่างกัน ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้เด็กทุกคนเติบโตอย่างมีคุณภาพ ร่างกายแข็งแรงสมวัยนั่นเอง
วัคซีนเด็กจำเป็นที่เด็กทุกคนต้องฉีด
วัคซีนพื้นฐานเด็กที่เด็กไทยทุกคนต้องได้รับการฉีดตามแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันของประเทศไทย ลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโรคต่าง ๆ
- วัคซีนบีซีจี (BCG) วัคซีนแรกเกิดที่ต้องฉีดทันทีภายใน 24 ชม. หลังเด็กคลอดออกมาแล้ว ช่วยป้องกันการเกิดวัณโรค
- วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี (HBV) จะแบ่งการฉีดออกเป็น 3 ครั้ง คือ ตอนแรกเกิด, อายุ 1 เดือน และ 6 เดือน
- วัคซีนคอตีบ – บาดทะยัก – ไอกรน (DTwP) เป็นการฉีดเพื่อป้องกัน 3 โรค เริ่มฉีดครั้งแรกตอนอายุ 2 เดือน, 4 เดือน และ 6 เดือน จากนั้นจะมีเข็มกระตุ้นเมื่อเด็กอายุ 1 ขวบครึ่งและ 4 ขวบ
- วัคซีนโรต้า วัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็กป้องกันอาการท้องร่วง แนะนำให้ฉีดเมื่อเด็กอายุ 2 เดือนขึ้นไป
- วัคซีนโปลิโอ (OPV) ป้องกันเชื้อโปลิโอเข้าสู่ร่างกายเด็กจนไปทำลายเซลล์ประสาทไขสันหลังและระบบประสาทอื่น ๆ ลักษณะวัคซีนพื้นฐานเด็กตัวนี้จะใช้วิธีหยอดหรือกิน เด็กต้องได้รับทั้งสิ้น 3 ครั้ง คือ อายุ 2 เดือน, 4 เดือน และ 6 เดือน
- วัคซีนโรคหัด – หัดเยอรมัน – คางทูม (MMR) ฉีดยาวัคซีนเด็กชนิดนี้เข็มเดียวป้องกันได้ตลอดชีวิต เข็มแรกควรฉีดช่วงอายุ 9-12 เดือน และฉีดกระตุ้นอีกครั้งช่วงอายุ 4-6 ปี
- วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบ (JE) ติดต่อจากยุงที่มีเชื้อของโรคดังกล่าวอยู่ การฉีดวัคซีนเด็กชนิดนี้แบ่งออก 2 ครั้ง คือ ช่วงอายุ 9-18 เดือน และหลังจากนั้น 4 สัปดาห์ ปิดท้ายด้วยเข็มกระตุ้นตอนอายุ 2 หรือ 2 ขวบครึ่ง
นอกจากกลุ่มวัคซีนหลัก ๆ แล้ว พ่อแม่ยังสามารถพาลูกน้อยไปฉีดวัคซีนเสริมในเด็กที่เพิ่มเติมได้ เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่, วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (ผู้หญิง), วัคซีนตับอักเสบเอ, วัคซีนโรคอีสุกอีใส, วัคซีน IPD เป็นต้น
การดูแลลูกน้อยทั้งก่อนและหลังเข้ารับวัคซีนเด็ก
ก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน พ่อแม่ต้องเช็คในสมุดวัคซีนให้ดีว่ากำหนดการฉีดยาวัคซีนเด็กตรงกับวันไหนบ้างแล้วพาไปให้ตรง (หากไม่ตรงต้องแจ้งหรือสอบถามข้อมูลจากสถานที่ฉีด) มีการแจ้งแพทย์หรือพยาบาลในกรณีลูกเคยมีประวัติแพ้วัคซีน แพ้ยา แพ้อาหาร กรณีลูกป่วย ไม่สบาย ให้เลื่อนการฉีดนั้นออกไปก่อน
หลังเข้ารับการฉีดวัคซีน ให้สังเกตอาการอย่างน้อย 30 นาที หรือถ้ากลับบ้านแล้วมีอาการผิดปกติ เช่น ไข้ขึ้นสูง, ผื่นคัน ฯลฯ ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที
ทั้งหมดนี้คือวัคซีนเด็กและวัคซีนทารกที่พ่อแม่ทุกคนต้องรู้และพาลูกน้อยของตนเองเข้ารับให้ตรงตามกำหนดทุกเข็ม เพื่อสร้างสุขภาพที่ดีให้กับเขา เติบโตอย่างสมบูรณ์แข็งแรงต่อไป ไม่สร้างภาระต่อครอบครัวและสังคมด้วย