fbpx

Brownout Syndrome ภาวหมดใจในการทำงาน ภัยเงียบของมนุษย์เงินเดือน

“Brownout Syndrome” คำที่ได้ยินอยู่บ่อยครั้ง ส่วนใหญ่มักจะเป็นหัวข้อที่คนวัยทำงานชอบหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกัน และคุณเองอาจจะเป็นหนึ่งในนั้นที่เคยใช้คำนี้มาเป็นหัวข้อในการคุยกับเพื่อนร่วมงาน คงไม่ใช่เรื่องดีเท่าไหร่นักที่ต้องมานั่งปรึกษากันเรื่องนี้ แต่ในเมื่อเกิดขึ้นกับตัวเราเองแล้วจำเป็นที่จะต้องรู้เท่าทันและศึกษาภาวะนี้อย่างละเอียด และบทความนี้เองจะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับ ภาวะ Brownout Syndrome อย่างลึกซึ้ง ในเมื่อเลือกไม่ได้ว่าจะเป็นหรือไม่ก็อยู่กับมันแบบเข้าใจดีกว่า

Brownout Syndrome คืออะไร มีลักษณะอย่างไรบ้าง

Brownout Syndrome คือ ภาวะหมดใจที่เกิดขึ้นกับองค์กร หรือหัวหน้า แต่ยังรักในตัวงานอยู่ แต่เหนื่อยใจกับกฎเกณฑ์ เงื่อนไขต่าง ๆ ขององค์กรที่ไม่มีความสมเหตุสมผลเท่าไหร่นัก ต่อให้ทำงานออกมาได้ดีเท่าไหร่ ก็ไม่ได้รับคำชมเชย ทำให้ความอยากจะทุ่มเทให้กับการทำงานลดลง หมดความรัก ความภักดีในที่สุด แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่ทำงานเพราะอยากได้คำชมเชยจากหัวหน้า แต่คำยกย่อง ชมเชย ก็เป็นเหมือนน้ำที่หล่อเลี้ยงจิตใจพนักงานทุกคน ซึ่งกับหัวหน้าบางคนการเอ่ยคำชมนั้นยากยิ่งกว่าการพูดตำหนิมากนัก เมื่อเราควบคุมอะไรไม่ได้การเยียวยาจิตใจก็คงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ตอบโจทย์มนุษย์วัยทำงาน

Brownout Syndrome เกิดจากอะไร

อย่างที่ได้กล่าวไปในข้างต้นแบบคร่าว ๆ กันไปแล้วว่าลักษณะของภาวะ Brownout Syndrome เป็นอย่างไร คราวนี้เรามาดูกันถึงสาเหตุที่แท้จริงดีกว่าว่ามีอะไรที่ทำให้เกิดภาวะ Brownout Syndrome จะได้ทำความเข้าใจเมื่อเกิดอาการหมดแพชชั่นหรือเบื่องานขึ้น

  • ปัญหาเดิมๆที่ไม่ได้รับการแก้ไข เช่น ปัญหาเรื่องเงิน, เพื่อนร่วมงาน, หัวหน้า
  • การเมืองในองค์กร ที่ทำให้รู้สึกว่าต่อให้พยายามเท่าไหร่ก็สู้ลูกรักไม่ได้อยู่ดี
  • ทำงานหนัก ทำงานเยอะ จนกระทบกับชีวิตส่วนอื่นๆ ส่งผลให้ร่างกายอ่อนแอ ป่วยบ่อย ไม่มีเวลาให้คนรอบข้างหรือครอบครัว
  • ทำงานแบบไม่มีทิศทาง ไร้จุดหมาย
  • กฎระเบียบในองค์กรที่เข้มงวดจนเกินไป

Brownout ต่างจาก Burnout อย่างไร

ภาวะ Brownout Syndrome  มีความแตกต่างกับภาวะเบิร์นเอาท์อย่างสิ้นเชิง ภาวะ Burn out คือ ภาวะที่เกิดจากตัวบุคคลที่มีการเบื่องาน หมดแพชชั่น ไม่อยากทำงานอีกต่อไป ไม่เกี่ยวกับสังคมในที่ทำงานหรือหัวหน้างานแม้แต่นิดเดียว เกิดจากความเครียดสะสมที่เกิดในตัวบุคคลและไม่ได้รับการแก้ไขได้แต่สะสมไว้จนส่งผลออกมาเป็นอาการป่วยทางจิตที่แสดงออกทางกาย อารมณ์ และพฤติกรรม

วิธีการรับมือกับภาวะ Brownout Syndrome

วิธีการรับมือเมื่อเกิดภาวะ Brownout Syndrome ขึ้น และรู้ตัวแล้วว่าตัวเราเองกำลังประสบภาวะป่วยใจ สามารถพบจิตแพทย์เพื่อทำการปรึกษาปัญหาและวิธีแก้ไข เยียวยาสภาพจิตใจในเบื้องต้นก่อน หลังจากนั้นลองเข้าไปพูดคุยกับหัวหน้าถึงสภาวะแวดล้อมในที่ทำงานรวมถึงกฎระเบียบที่ออกมาบังคับใช้อาจจะจุกจิกยิบย่อยจนเกินไป รวมถึงการเมืองในที่ทำงาน ทิศทางของการทำงาน เพื่อเป็นการบอกหัวหน้าเป็นนัย ๆ ว่าตอนนี้ลูกน้องหรือพนักงานในบริษัทกำลังมีความรู้สึกอย่างไร จะได้ทำการแก้ไขได้ทัน ก่อนที่ลูกน้องจะยื่นใบลาออกกันหมด

สรุป

สำหรับใครที่กำลังเบื่องานให้ลองสำรวจตัวเองดูอีกครั้งว่าจริง ๆ แล้วกำลังอยู่ในภาวะบราวน์เอาท์ Brownout Syndrome หรือเบิร์นเอาท์ Burnout Syndrome กันแน่ เมื่อได้คำตอบแล้วรีบมาเยียวยาจิตใจก่อนที่ทุกอย่างจะบานปลายไปมากกว่าที่เป็น หากใครที่รับมือเองไม่ไหว การพบจิตแพทย์เพื่อทำการเยียวยาและลำดับความคิดให้เป็นระบบระเบียบก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่ใช่น้อย การเข้าพบจิตแพทย์ไม่ใช่เรื่องผิดหรือหมายความว่าป่วยแต่อย่างใด หยุดความกังวลแล้วเยียวยาจิตใจกันดีกว่า

Sign Up Here!

Get notified when more articles like these get published.

Share Article

Sign Up

Get notified when this course becomes available again!