“น้ำนมแม่” เป็นสารอาหารที่อุดมด้วยคุณค่าที่มากที่สุดของเด็กทารกตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 เดือน คุณแม่มือใหม่ต่างหาวิธีการเพิ่มน้ำนมหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะจากอาหารที่รับประทานเข้าไป การนวดคลึงเต้านม แต่สิ่งที่เห็นผลชัดเจนที่สุดมาจากอาหารที่รับประทานเข้าไป วิธีนี้จึงเป็นวิธีที่คุณแม่มือใหม่เลือกใช้กันมากที่สุด
อาหารบำรุงน้ำนม และสารอาหารที่สำคัญ
1. หัวปลี
อาหารบำรุงน้ำนมสุดฮิต เป็นพืชที่หาได้ทั่วไปในพื้นที่ประเทศไทย อุดมไปด้วยแคลเซียม (มากกว่ากล้วย 4 เท่า) โปรตีน ธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส วิตามินซี เบต้าแคโรทีน
เมนูแนะนำ แกงเลียง ยำหัวปลีทานเป็นเครื่องเคียงกับผัดไท
2. ขิง
สมุนไพรไทยที่ทุกคนรู้จักกันดี ขิงมีแคลเซียม วิตามินเอ วิตามินบี ช่วยขับลม ไล่ความเย็น แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยบำรุงน้ำนมได้ดี
เมนูแนะนำ น้ำขิงร้อน, โจ๊กใส่ขิง, ไก่ผัดขิง, หมูผัดขิง
3. กะเพรา
ผักสุดฮิตที่ทำอาหารได้หลากหลายเมนู ใครจะคิดว่าช่วยบำรุงน้ำนมแม่ได้อีกด้วย ในใบกะเพราอุดมไปด้วย ธาตุเหล็ก แคลเซียม ฟอสฟอรัส มีเส้นใยอาหารสูง สมุนไพรฤทธิ์ร้อนจะช่วยกระตุ้นน้ำนมได้ดี
เมนูแนะนำ เมนูผัดกะเพราผสมเนื้อสัตว์, โป๊ะแตก, ผัดฉ่า
4. ฟักทอง
สามารถทำเป็นเมนูคาวและหวานได้ ในฟักทองอุดมไปด้วย เบต้าแคโรทีน ฟอสฟอรัส วิตามินเอ คุณแม่มือใหม่ไม่ต้องกังวลมากมายนักกับการรังสรรค์เมนูที่มีส่วนประกอบหลักเป็นฟักทอง
เมนูแนะนำ ซุปฟักทอง ฟักทองผัดไข่ แกงเลียง ฟักทองนึ่ง แกงบวดฟักทอง
5. กุยช่าย
ผักใบเขียวที่หลายคนโปรดปราน หาซื้อได้ง่าย พ่อแม่มือใหม่หมดกังวลกับการหาซื้อไปได้เลย อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส คาร์โบไฮเดรต วิตามินซี เบต้าแคโรทีน
เมนูแนะนำ กุยช่ายผัดตับ กุยช่ายผัดเห็ด กุยช่ายผัดหมู กุยช่ายนึ่งหรือทอด
6. ใบแมงลัก
อุดมไปด้วย ธาตุเหล็ก วิตามินบี วิตามินซี แคลเซียม บำรุงเลือด เสริมสร้างกระดูกและฟัน
เมนูแนะนำ เป็นส่วนประกอบในแกงเลียง แกงป่า, แกล้มกับขนมจีน
นอกจากอาหารบำรุงน้ำนมที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้ว ยังมีบวบ พริกไทย มะละกอ กานพลู พุทรา ตำลึง ที่ช่วยบำรุงน้ำนมได้อีกด้วย ถือเป็นคู่มือคุณแม่มือใหม่ที่ต้องการหาข้อมูลอาหารเพิ่มน้ำนมและไอเดียการนำไปปรุงอาหาร สามารถมิกซ์แอนด์แมทช์ได้ตามความสะดวก แต่ทั้งนี้การปรุงอาหารมีข้อควรระวังที่แม่มือใหม่ควรระมัดระวัง
วิธีเลือกรับประทานอาหารให้ได้คุณค่าจากอาหารสูงสุด อร่อยแถมดีต่อสุขภาพ
1. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสม
2. รับประทานอาหารที่ปรุงเอง หากเวลาน้อยสามารถเลือกซื้อได้จากร้านที่ปรุงสุก หลีกเลี่ยงอาหารสำเร็จรูปเนื่องจากโซเดียมสูง และมีสารกันเสียอาจส่งผลต่อลูกน้อยได้
3. ดื่มน้ำให้เพียงพอ พยายามจิบเป็นระยะ
4. กินปลาที่มีไขมันสูง สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง
อาหารที่ประกอบขึ้นเอง หากเป็นผักควรใช้ระยะเวลาในการปรุงให้สุกแต่พอดี ไม่ควรใช้เวลาในการปรุงนานเกินไปเพราะความร้อนจะทำให้ผักสูญเสียคุณค่าทางอาหารได้ หากจำเป็นต้องทำเมนูผัด แนะนำให้ใช้น้ำมันคาโนล่า, น้ำมันถั่วเหลือง และควบคุมปริมาณน้ำมันแต่พอดี การประกอบอาหารด้วยวิธีต้ม นึ่ง อบ ตุ๋น จะดีต่อสุขภาพคุณแม่มือใหม่หลังคลอดที่สุด