fbpx

รวมทุกเรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับ ยื่นภาษีฉบับพนักงานบริษัท

การยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นหน้าที่ของผู้มีรายได้ทุกคนเพื่อให้ภาครัฐนำไปจัดสรรในด้านต่าง ๆ ซึ่งในฐานะของการเป็นพนักงานบริษัทที่มีรายได้ประจำอยู่แล้วก็เข้าข่ายด้วยเช่นกัน แต่เพื่อให้เกิดความเข้าใจมากขึ้นลองมาเช็กรายละเอียดกันเลยว่าการยื่นภาษีพนักงานบริษัทมีเรื่องไหนต้องรู้บ้าง

ยื่นภาษีพนักงานบริษัทต้องมีเงินเดือนเท่าไหร่?

ตามปกติแล้วไม่ว่าคุณจะทำอาชีพใดก็ตามหากมีรายได้ต่อปีมากกว่า 120,000 บาท ขึ้นไป หรือเฉลี่ยมีรายได้เดือนละ 10,000 บาท ต้องทำการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีละ 1 ครั้ง ซึ่งปกติจะอยู่ระหว่างเดือนมกราคม – เดือนมีนาคมในปีภาษีถัดไป

ขั้นตอนการยื่นภาษีฉบับพนักงานบริษัท

บางบริษัทฝ่ายบัญชีหรือฝ่ายบุคคลจะทำหน้าที่ยื่นภาษีเงินได้ให้ก็เป็นเรื่องสะดวก แต่พนักงานบางคนก็มีรายได้อื่นเพิ่มเติม หรือทางหน่วยงานไม่ได้ทำในส่วนการยื่นภาษีให้ตัวพนักงานก็ต้องดำเนินการด้วยตนเอง ซึ่งการยื่นภาษีพนักงานบริษัททำไม่ยาก แถมปัจจุบันทำผ่านออนไลน์ได้แล้ว ดังนี้เลย

1. คลิกเข้าไปหน้าเว็บไซต์ https://efiling.rd.go.th/rd-cms/ หากยื่นเป็นครั้งแรกต้องลงทะเบียนให้เรียบร้อย แต่ถ้าใครเคยยื่นแล้วก็ล็อกอินได้ทันที

2. เลือกยื่นแบบภาษีบุคคลธรรมดา ภ.ง.ด. 90/91

3. กรอกรายละเอียดตามที่แบบยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาระบุเอาไว้ให้ครบถ้วน เช่น ข้อมูลส่วนตัว จำนวนเงินได้ ค่าลดหย่อน

4. ตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้ง เมื่อตัวเลขรายละเอียดครบถ้วนและเห็นจำนวนเงินที่ต้องจ่ายภาษีแล้วก็ยืนยันข้อมูล สุดท้ายทำการจ่ายภาษีตามจำนวนที่กำหนดได้เลย

ค่าลดหย่อนภาษีของพนักงานบริษัทมีอะไรบ้าง

การลดหย่อนภาษีเป็นตัวช่วยที่จะทำให้ทุกคนจ่ายค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาน้อยลง ซึ่งค่าลดหย่อนภาษีมีอะไรบ้าง เช็กกันตรงนี้ได้เลย

  • ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
  • ค่าลดหย่อนคู่สมรส (ไม่มีเงินได้และจดทะเบียนตามกฎหมาย) 60,000 บาท
  • ค่าลดหย่อนบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายคนละ 30,000 บาท ไม่เกิน 3 คน (บุตรมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท / ปี)
  • ค่าลดหย่อนบิดา-มารดา อายุ 60 ปีขึ้นไป มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท / ปี
  • ค่าลดหย่อนผู้พิการ ทุพพลภาพ คนละ 60,000 บาท
  • ค่าฝากครรภ์ / คลอดบุตร ไม่เกิน 60,000 บาท
  • ประกันสุขภาพไม่เกิน 25,000 บาท
  • ประกันชีวิตไม่เกิน 100,000 บาท (รวมประกันสุขภาพแล้ว)
  • ประกันสังคม ไม่เกิน 9,000 บาท
  • ประกันสุขภาพบิดา-มารดา ไม่เกิน 15,000 บาท
  • กองทุน RMF และ SSF ตามที่ภาครัฐกำหนด
  • ลดหย่อนอื่น ๆ ตามที่ภาครัฐกำหนดแต่ละปีภาษี เช่น โครงการช้อปดีมีคืน ดอกเบี้ยที่อยู่อาศัย

การคำนวณภาษีเงินได้

ซึ่งหลักในการคำนวณภาษีก็ไม่ได้ยุ่งยากให้นำเงินได้ทั้งหมด หัก ค่าใช้จ่าย (ตามประเภทเงินได้ที่กฎหมายกำหนด) หัก ค่าลดหย่อน จะเท่ากับ “เงินได้สุทธิ” แล้วนำไป คูณ อัตราภาษี ก็จะเป็นจำนวนเงินภาษีที่ต้องจ่าย

และถ้าไม่ยื่นภาษีก็จะมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 2 แสนบาท จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ ต้องจ่ายเบี้ยปรับ 2 เท่า ของภาษีที่ต้องชำระ และมีดอกเบี้ย 1.5% ต่อเดือนของยอดภาษีด้วย

Sign Up Here!

Get notified when more articles like these get published.

Share Article

Sign Up

Get notified when this course becomes available again!