การลงทุนใน “กองทุน” เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่นักลงทุนให้ความสนใจ นอกจากจะไม่ต้องบริหารจัดการพอร์ตเองแล้ว ยังรับผลตอบแทนแบบ Passive Income ที่ดีอย่างสม่ำเสมอ แต่กระนั้นการลงทุนก็มีความเสี่ยงของกองทุนที่นักลงทุนจำเป็นต้องรับทราบความเสี่ยงและทำความรู้จักตนเองว่ารับความเสี่ยงได้ที่ระดับใดจึงจะหาแนวทางการลงทุนที่เหมาะกับตัวเองได้อย่างเหมาะสม เลือกลงทุนแบบไหนดีก็เป็นอีกหนึ่งอย่างที่ต้องตอบตัวเองให้ได้ถึงจะสามารถบริหารเงินเก็บและนำไปลงทุนได้อย่างถูกต้อง ส่วนความเสี่ยงของกองทุนที่ว่ามีอะไรบ้างนั้นไปดูพร้อมๆกันเลย
ความเสี่ยงจากการซื้อกองทุน เกิดจากอะไรบ้าง
ความเสี่ยงของกองทุน เกิดจากปัจจัยภายนอกไม่ว่าจะเป็น
- อัตราดอกเบี้ย ที่เพิ่มสูงขึ้นเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ หรือดอกเบี้ยลดลงเพื่อควบคุมเงินฝืด ราคาของหลักทรัพย์จึงค่อนข้างผันผวนตามอัตราดอกเบี้ยที่ไม่คงที่
- เศรษฐกิจ สภาวะเศรษฐกิจโลกซบเซา ส่งผลโดยตรงต่อราคาหลักทรัพย์
- การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ที่ส่งผลต่อราคาหลักทรัพย์โดยตรงและฉับพลันเลยคือการทำรัฐประหารและการทำสงคราม ซึ่งส่งผลให้หลักทรัพย์ชะลอตัวหรือลดลงมานับครั้งไม่ถ้วนแล้ว
- ความสามารถของผู้จัดการกองทุน ส่งผลโดยตรงต่อกองทุนแสดงให้เห็นออกมาในรูปแบบผลตอบแทนกองทุน ซึ่งสามารถดูผลตอบแทนย้อนหลังแต่ละกองทุนอ้างอิงประกอบการตัดสินใจได้
รู้จักการแบ่งระดับความเสี่ยงของกองทุน
ปัจจุบันความเสี่ยงของกองทุนแบ่งออก ได้ 8 ระดับ เริ่มที่ความเสี่ยงต่ำสุดไปสูงสุด ได้แก่
- ระดับ 1. กองทุนรวมตลาดเงินในประเทศ ได้แก่ เงินฝาก, ตั๋วเงิน, ตราสารหนี้ อายุไม่เกิน 1 ปี
- ระดับ 2. กองทุนรวมตลาดเงินต่างประเทศ กลุ่มนี้ได้รวมกองทุนตลาดเงินในประเทศไว้ด้วย และมีลงทุนในตลาดเงินต่างประเทศบางส่วน ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น คือ อัตราแลกเปลี่ยน แต่กองทุนได้ทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนไว้แล้ว
- ระดับ 3. กองทุนรวมพันธบัตรรัฐบาล เน้นลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ เช่น พันธบัตรรัฐบาล, พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ อายุเฉลี่ยมากกว่า 1 ปี ขึ้นไป
- ระดับ 4. กองทุนรวมตราสารหนี้ ลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐและเอกชน เช่น หุ้นกู้เอกชน, ตั๋วเงินคลัง, พันธบัตรรัฐบาล, พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ
- ระดับ 5. กองทุนรวมผสม เน้นลงทุนแบบกระจายการลงทุน ได้ทั้ง เงินฝาก, ตั๋วเงิน, หุ้นกู้, พันธบัตรรัฐบาล ขึ้นอยู่กับนโยบายของกองทุน
- ระดับ 6. กองทุนรวมตราสารทุน ลงทุนหุ้นทั้งในและต่างประเทศ รวมไปถึง กองทุน SSF และ RMF
- ระดับ 7. กองทุนรวมตามหมวดอุตสาหกรรม เน้นลงทุนในอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง เรียกได้ว่าค่อนข้างเฉพาะทางมาก ๆ นักลงทุนควรมีความรู้ความเข้าใจในอุตสาหกรรมนั้นเป็นอย่างดี
- ระดับ 8. กองทุนที่เน้นลงทุนในทรัพย์สินทางเลือก มีความซับซ้อนสูง ได้แก่ ทองคำ, น้ำมัน เป็นต้น
วิธีรับมือและกระจายความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น
วิธีการรับมือความเสี่ยงของกองทุนที่อาจเกิดขึ้นสามารถทำได้โดยการประเมินระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ จาก https://www.set.or.th/project/caltools/risk.html โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อทำความเข้าใจตนเองก่อนเริ่มต้นลงทุนในกองทุนรวม
การกระจายความเสี่ยงของกองทุน สามารถทำได้โดยกระจายความเสี่ยงของสินทรัพย์ไปหลากหลายระดับ หากเป็นนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง อาจกระจายความเสี่ยงของกองทุนด้วยการลงทุนในกองทุนที่ความเสี่ยงต่ำไว้ด้วย นับเป็นวิธีกระจายความเสี่ยงยอดฮิตของนักลงทุนเลยทีเดียว
สรุป
สำหรับผู้ที่กำลังสนใจลงทุนในกองทุนรวมอย่าลืมเข้าไปประเมินระดับความเสี่ยงที่รับได้ก่อนลงทุนในกองทุนประเภทต่างๆ เพราะความเสี่ยงของกองทุนเป็นหน้าที่ของแต่ละบุคคลที่จะต้องทำความเข้าใจ หากศึกษาไม่ดีหรือไม่เพียงพอ เงินที่อยู่ในมือเรา อาจสูญสลายไปจากการลงทุนที่เกิดจากความไม่รู้ก็เป็นได้ทั้งนั้น รู้จักบริหารเงินเก็บด้วยการออมเงินกับลงทุนเพื่อรับผลตอบแทนที่ยั่งยืน