หลายครอบครัวที่ไม่สามารถมีลูกเองได้ หรือบางบ้านอาจเห็นอกเห็นใจเด็ก ๆ และอยากให้เขาเติบโตอย่างมีคุณภาพ จึงคิดดำเนินการเป็น “ครอบครัวอุปการะ” แต่ทั้งนี้ไม่ใช่จะขอรับเลี้ยงเป็นพ่อแม่บุญธรรมแล้วทำได้เลย เพราะมีเรื่องของกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง และต้องปฏิบัติตามด้วยเช่นกัน ใครที่วางแผนอยากเติมเต็มครอบครัวให้สมบูรณ์แบบมาศึกษาข้อมูลพร้อมกันเลย
กฎหมายที่ควรรู้สำหรับคนที่อยากทำ “ครอบครัวอุปการะ” ในประเทศไทย
สำหรับผู้ที่อยากเป็นครอบครัวอุปการะ หรือการรับบุตรบุญธรรมมาดูแลต้องดำเนินการควบคู่กันไปทั้งเรื่องกฎหมายและหลักการด้านสังคมสงเคราะห์ โดยขอบเขตกฎหมายที่จะเกี่ยวข้องประกอบไปด้วย
- ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
- พระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. 2522
- พระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. 2533 (ฉบับที่ 2)
- กฎกระทรวงฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2543) ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. 2522
- พระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว
- พระราชบัญญัติทะเบียนราษฎร
คุณสมบัติเบื้องต้นของผู้รับเลี้ยงบุตรบุญธรรม
- อายุในการยื่นคำร้อง ณ วันที่ยื่นต้องไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์
- อายุของผู้ยื่นคำรองต้องมากกว่าอายุของเด็กอย่างน้อย 15 ปี
- ไม่เป็นผู้ต้องห้ามการเป็นผู้ปกครองเด็กตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1587
- เป็นบุคคลสัญชาติไทย ภูมิลำเนาที่อยู่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ขอรับเลี้ยงเด็กสัญชาติไทยที่บิดา-มารดา หรือเฉพาะมารดาให้การยินยอม
- ระดับการศึกษาต้องไม่ต่ำกว่ามัธยมปลาย หรือเทียบเท่าเป็นอย่างน้อย
- อาชีพการงานมั่นคง ภายในครอบครัวมีรายได้รวมกันไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท / เดือน และพร้อมอุปการะทุนการศึกษาให้กับเด็กโดยไม่เกิดความขัดสน หรือยากลำบาก
- มีสุขภาพร่างกายและจิตใจแข็งแรง ตามเกณฑ์เหมาะสม หรือกรณีไม่สามารถมีบุตรได้ต้องมีใบรับรองแพทย์ยืนยัน
- สามารถแสดงหนังสือทรัพย์สินส่วนบุคคลเพื่อเป็นการยืนยันด้านความมั่นคง เช่น บ้าน รถยนต์ ที่ดิน ฯลฯ
- ไม่เคยมีประวัติก่ออาชญากรรม กระทำผิดกฎหมายรุนแรง มีภาวะพฤติกรรมก้าวร้าว ต่อบุคคลอื่น หรือปฏิบัติผิดจารีตประเพณี
ทั้งนี้เมื่อตัดสินใจอยากสร้างครอบครัวอุปการะในการเลี้ยงดูเด็ก ต้องดำเนินการจดทะเบียนต่าง ๆ พร้อมเตรียมเอกสารให้ครบถ้วนตามที่มูลนิธิและกฎหมายได้กำหนดเอาไว้
เข้าใจดีว่าหลายคนอยากมีครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ ได้ความรู้สึกของการเป็นพ่อแม่มือใหม่ เห็นลูกเติบโตมีอนาคตอันแสนสดใส แต่ในเมื่อไม่สามารถมีลูกตามธรรมชาติได้ การเลือกทำครอบครัวอุปการะก็ถือเป็นอีกวิธีที่น่าสนใจ ทว่าต้องวางแผนมาอย่างดี มั่นใจในการเลี้ยงดูเพื่อให้เขาเติบโตมีอนาคตอันสดใส ไม่เป็นภาระสังคม เท่านี้คนเป็นพ่อแม่ก็คงไม่ขออะไรมากอีกแล้ว เมื่อมีจิตใจแน่วแน่ก็เริ่มดำเนินการได้เลย