พ่อแม่เอเชีย กับการละเลยสิทธิเด็กโดยไม่รู้ตัว
บุคคลที่เกิดและโตมาในภูมิภาคเอเชียอย่างเราคงมองเห็นภาพกันดีว่า การเลี้ยงดูของพ่อแม่เอเชียเป็นแบบใด เมื่อพูดถึงรูปแบบของการเลี้ยงดูแล้วค่อนข้างแตกต่างจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ฝรั่งที่ค่อนข้างให้อิสระกับลูก ทุกสิ่งทุกอย่างลูกเป็นคนตัดสินใจเลือกด้วยตัวเองทั้งหมด เพราะพ่อแม่ฝรั่งตระหนักได้ว่าชีวิตของลูก ให้ลูกได้รับผิดชอบเองตั้งแต่เด็ก ฝึกความมีวินัยตั้งแต่เริ่มกันไปเลย
สิทธิความเป็นส่วนตัวของลูก สิ่งที่พ่อแม่หลายคนละเลย เมื่อพ่อแม่ลงรูปลูกในสื่อสังคมออนไลน์
การละเลยสิทธิความเป็นส่วนตัวของลูกสิ่งแรกที่พ่อแม่เอเชียมักมองข้ามไปอยู่เสมอนั่นก็คือการลงรูปลูกลงในสื่อสังคมออนไลน์ไม่ว่าจะเป็น Facebook, IG, Tiktok, Youtube หรือแม้แต่ในเว็บบล็อคส่วนตัวก็ตาม พ่อแม่เอเชียไม่ได้นึกถึงสิทธิเด็กเลยว่าถึงแม้เด็กจะเป็นลูกที่อยู่ในความปกครองของพ่อแม่ แต่เขาก็มีสิทธิในร่างกายของเขาเอง
ทำไมการโพสต์รูปลูกลงสื่อออนไลน์ถึงเป็นการละเลยสิทธิของลูก ผลกระทบที่อาจเกิดต่อลูก
อย่างที่เราทราบกันดีว่าการโพสต์รูปลูกลงบนสื่อออนไลน์ถือเป็นการละเมิดสิทธิเด็กในข้อที่ว่าเด็กเองก็มีสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งมีกฎหมายรับรอง การที่พ่อแม่จะโพสต์รูปลูกจำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากตัวเด็กด้วยเช่นเดียวกัน เพื่อให้เขามีส่วนร่วมในการตัดสินใจกระทำสิ่งนั้นๆ ด้วย
เกร็ดความรู้สำหรับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเด็กในประเทศไทย
“เด็ก” การนิยามตามกฎหมาย หมายถึง บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่รวมถึงผู้ที่บรรลุนิติภาวะด้วยการสมรส
นอกเหนือจากการปกป้องคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแล้ว ประเทศไทยยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเด็กสำคัญหลายฉบับ ได้แก่
- พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ระบุไว้อย่างชัดเจนใน มาตรา 22 ว่า “การปฏิบัติต่อเด็กไม่ว่ากรณีใด ให้คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญและไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม”
- พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553
- พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562
- พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560
เพราะการโพสต์รูปลูกลงสื่อออนไลน์นอกจากเป็นการละเมิดสิทธิเด็กอย่างที่กล่าวไปในข้างต้นแล้ว ยังมีผลกระทบที่อาจเกิดต่อลูกได้เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากมิจฉาชีพหรือผู้ร้ายที่รู้ทุกอย่างภายในครอบครัว อาจนำจุดอ่อนมาเป็นข้อกระทำความผิดต่อลูกได้ หรืออันตรายอื่นๆ ที่พบเห็นได้ตามข่าวที่เห็นบนโลกออนไลน์ หรือแม้แต่ความเป็นส่วนตัวที่ลูกต้องการไม่แพ้ที่พ่อแม่ต้องการ ในบางครั้งบางมุมลูกก็ต้องการทำกิจกรรมบางอย่างที่ไม่อยากให้คนภายนอกได้เห็น แต่พ่อแม่กลับละเมิดสิทธิข้อนี้ไป เมื่อข้อมูลถูกเผยแพร่ออกไปลูกอาจโดนล้อ โดนแซวจากเพื่อนๆ กลายเป็นปมด้อยที่ไม่มีใครเข้าใจ เด็กปัจจุบันจะพบเจอกับปัญหานี้ค่อนข้างมาก ซึ่งพ่อแม่ควรศึกษาในเรื่องสิทธิ ความเป็นส่วนตัวของลูกอย่างละเอียด เพราะบางอย่างหากมันเกิดขึ้นแล้วไม่อาจย้อนเวลากลับมาแก้ไขได้กลายเป็นปมในใจลูกไปตลอดกาล ดังนั้นการจะทำอะไรเกี่ยวกับลูก ถึงแม้จะเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ เช่น การถ่ายรูป ควรได้รับความยินยอมจากลูกผู้ซึ่งเป็นเจ้าของร่างกายด้วย เพื่อแสดงถึงการเคารพสิทธิส่วนบุคคลที่ควรปลูกฝังให้เด็กตั้งแต่อายุยังน้อย
พ่อแม่ควรทำอย่างไรเพื่อปกป้องสิทธิของลูกจากสังคมออนไลน์
แน่นอนว่าเมื่อลูกยังเด็กมากไม่รู้ความ ลูกไม่สามารถปกป้องสิทธิให้กับตัวเองได้ สิ่งที่พอจะทำได้คือ พ่อแม่ต้องเป็นด่านแรกในการปกป้องสิทธิให้กับลูก รวมถึงพ่อแม่เองก็ต้องปฎิบัติด้วยเช่นกัน เริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล, เปิดเผยหน้าลงในสื่อออนไลน์ และเมื่อถึงวัยที่ลูกพอรู้ พอเข้าใจสิ่งต่างๆ แล้วพ่อแม่ควรถามความสมัครใจทุกครั้งที่ต้องนำรูปภาพหรือข้อมูลส่วนตัวมาลงในสื่อออนไลน์
เป็นเรื่องน่ายินดีที่พ่อแม่เอเชียยุคใหม่ให้ความสนใจกับสิทธิความเป็นส่วนตัวของเด็กมากขึ้น สังเกตุได้จากพ่อแม่ดาราหลายคนที่ไม่ได้เปิดเผยใบหน้า หรือข้อมูลส่วนตัวของลูกเพื่อปกป้องสิทธิของลูกมากขึ้น หวังว่าพ่อแม่ที่ได้เข้ามาอ่านบทความนี้แล้วอาจจะหันมาให้ความสนใจกับสิทธิเด็ก กันมากขึ้นนะคะ