การเลี้ยงลูกเพื่อให้เขาเติบโตอย่างมีคุณภาพไม่ใช่แค่การดูแลสุขภาพกายเท่านั้น แต่สุขภาพจิตก็เป็นอีกสิ่งสำคัญที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้ามเด็ดขาด เพราะนั่นหมายถึงอนาคตที่จะกำหนดชีวิตเขาได้ในระดับหนึ่งเลยทีเดียว ดังนั้นการเรียนรู้และทำความเข้าใจพร้อมหาแนวทางสร้างสุขภาพจิตที่ดีของเด็กแต่ละวัยจึงต้องใส่ใจมากเป็นพิเศษ
ปัญหาสุขภาพจิตเด็กในแต่ละช่วงวัยพร้อมสาเหตุ
เด็กในช่วงขวบปีแรกจนถึง 3 ปี มักมีปัญหาสุขภาพจิตในเรื่องสมาธิสั้น อันเกิดจากพ่อแม่ยุคใหม่ให้ลูกอยู่กับมือถือ แท็บเล็ตเป็นเวลานานจนทำให้สารเคมีในสมองเกิดการหลั่งแบบผิดปกติ สมองส่วนหน้าจึงทำงานไม่เต็มที่ แม้หลัก ๆ แล้วมักมาจากปัจจัยด้านการถ่ายทอดยีน แต่การเลี้ยงดูแบบนี้ก็เป็นตัวกระตุ้นให้อาการเด่นชัดขึ้น
ขณะที่เด็กวัยอนุบาลจนถึงประถมจะมีปัญหาสุขภาพจิตใกล้เคียงกับผู้ใหญ่ เช่น ซึมเศร้า เครียด วิตกกังวล สับสน ท้อแท้ สิ้นหวัง หวาดระแวง เงียบซึม หรือบางคนอาจคึกผิดปกติ อารมณ์แปรปรวนง่าย มองว่าตนเองไร้คุณค่า เป็นภาระคนอื่น สาเหตุมาจากพ่อแม่เคร่งครัดมากเกินไป ไม่ได้ปล่อยให้ลูกมีอิสระ กดดันจากการเรียน การใช้ชีวิต หรือมีการเปรียบเทียบกับลูกคนอื่น
เลี้ยงลูกอย่างไรให้ห่างไกลปัญหาสุขภาพจิต พร้อมเติบโตอย่างมีคุณภาพ
เมื่อรู้ถึงสาเหตุกันแล้ว สิ่งสำคัญที่จะทำให้เด็ก ๆ สามารถเติบโตได้อย่างสมบูรณ์แบบคงต้องเริ่มจากการมีพื้นฐานครอบครัวที่ดี พ่อแม่เอาใจใส่ลูกในทุกช่วงวัยของชีวิต ตอนวัยเด็กพยายามหากิจกรรมอื่นให้เขาทำมากกว่าการปล่อยอยู่กับมือถือด้วยพ่อแม่ไม่ค่อยว่าง ทำงาน และอื่น ๆ
เมื่อเขาโตจนพูดคุยรู้เรื่อง เริ่มมีความคิดของตนเอง ยิ่งเป็นช่วงที่ต้องใส่ใจมากขึ้นไปอีก หากต้องการให้ลูกเติบโตอย่างมีคุณภาพก็ต้องพยายามใกล้ชิด แสดงพฤติกรรมที่เหมาะสม ไม่กดดันลูกจนเกินเหตุ เช่น แม้ผลสอบวิชาหลักออกมาไม่ดี แต่โดดเด่นในเรื่องศิลปะ กีฬา ก็ควรให้การสนับสนุนแต่ก็ไม่ละเลยเรื่องการเรียน ทำควบคู่กันไป อย่าเปรียบเทียบลูกตนเองกับคนอื่น เป็นต้น
ด้วยลักษณะการเลี้ยงดูของพ่อแม่เอเชียมักมีความเป็นระเบียบ ไม่ค่อยให้อิสระกับเด็กเท่าไหร่นักจนส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของเขาโดยตรง ดังนั้นลองปรับวิธีให้ทันกับยุคสมัย ให้เขาได้ทำในสิ่งที่ตนเองชอบ มีอิสระทางความคิดมากขึ้น คอยให้คำปรึกษา คำแนะนำอย่างเหมาะสม นอกจากไม่สร้างปัญหาทางสุขภาพจิตกับเด็กแล้ว ยังช่วยให้เขาเติบโตอย่างมีคุณภาพทั้งด้านร่างกาย จิตใจ ความคิด รักการใช้ชีวิตในแบบที่ตนเองเป็น และยังคงเห็นความสำคัญของครอบครัว ถือว่าผสมผสานทั้งการเลี้ยงดูแบบฝรั่งและเอเชียไปพร้อมกันนั่นเอง