รู้ทันปมวัยเด็กที่ส่งผลต่อจิตใต้สำนึกและสร้างผลเสียในระยะยาว
ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลาย ๆ คนเคยพบเจอกับ “ปมวัยเด็ก” ของตนเอง เช่น สภาพร่างกาย ความพิการ ลักษณะนิสัย พ่อแม่แยกทาง ครอบครัวไม่อบอุ่น ชอบใช้ความรุนแรง พ่อแม่ไม่สนใจลูกทำแต่งาน สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย ฯลฯ ซึ่งปมที่เขาสัมผัสได้อาจเกิดขึ้นจากความรู้สึกของเด็กเองที่แตกต่างไปจากคนอื่น หรือการโดนเพื่อนล้อเลียน บูลลี่จนส่งผลต่อจิตใจและลงลึกสู่จิตใต้สำนึก
เหตุผลที่ “ปมวัยเด็ก” เป็นเรื่องที่แก้ได้ยากมาก
บาดแผลต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในจิตใจมักส่งผลต่อการใช้ชีวิตได้เสมอ มันเหมือนกับทุกครั้งที่คุณนึกถึงเรื่องสะเทือนใจจากที่ตนเองเคยเจอเมื่อครั้งอดีตก็แทบรู้สึกหมดแรง บ้างร้องไห้ เสียใจ และอีกสารพัด นั่นเพราะกระบวนการคิด การทำงานของสมองมักจดจำเรื่องราวที่ “ฝังใจ” ยากต่อการลบเลือน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหาก “ปมวัยเด็ก” ซึ่งส่งผลต่อสภาพจิตใจเด็กอย่างมาก แม้เวลาผ่านมาเนิ่นนานแล้วก็ยังคงนึกถึงอยู่ตลอด
ตัวอย่างง่าย ๆ ในอดีตพ่อแม่ชอบใช้ความรุนแรง มีเรื่องตบตีกันบ่อย มีครั้งหนึ่งปาข้าวของทำให้ตนเองโดนลูกหลง ภาพเหล่านี้ก็ยังคงฝังอยู่ในจิตสำนึกและยากต่อการลบเลือน เมื่อไหร่ที่เขาเจอเหตุการณ์ใกล้เคียงกันก็มักย้อนกลับไปคิดถึงสิ่งที่ตนเองเคยเจอ สร้างบาดแผลในใจได้ตลอด
หากเจอเหตุการณ์ที่เป็นปมของตนเองกระทบกระเทือนจิตใจมาก ๆ บ่อยครั้งอาจมีการแสดงออกทางพฤติกรรมบางอย่างแบบไม่รู้ตัว เช่น การปาข้าวของ การกรีดร้อง ฯลฯ นี่คือผลกระทบระยะยาวจากปัญหาวัยเด็กที่พวกเขาพบเจอ
วิธีแก้ปัญหาเมื่อลูกต้องพบเจอกับปมวัยเด็ก
แม้อดีตจะเป็นเรื่องที่ย้อนกลับไปแก้ไขไม่ได้ แต่การทำปัจจุบันให้ดีที่สุดยังคงสำคัญและทุกปัญหามีวิธีแก้ไข มีทางออกให้เสมอ ขอแค่เลือกวิธีการเลี้ยงดูลูกอย่างถูกต้อง สำหรับพ่อแม่ที่รู้ว่าเมื่อก่อนเคยทำเรื่องบางอย่างให้ลูกมีปมวัยเด็กก็ต้องปรับตนเองใหม่ เอาใจใส่พวกเขาให้มากขึ้น พยายามอบรมเลี้ยงดูแบบใกล้ชิด ยอมรับกับลูกตรง ๆ ว่าเคยผิดพลาดและทำให้เด็กเสียใจ สะเทือนใจในเรื่องใด
การยอมรับความจริงแม้มันอาจไม่สามารถจัดการปัญหาได้ 100% แต่เชื่อว่าลูกจะเข้าใจถึงสิ่งที่เคยพลาดไปของพ่อแม่ และเขาจะมีความคิดไม่อยากทำแบบนั้นกับคนรอบข้างเข้า อย่าอายในการขอโทษหรืออธิบายให้เด็กเข้าใจพร้อมเริ่มต้นกันใหม่อีกครั้ง ดีกว่าฝืนทนศักดิ์ศรีจนท้ายที่สุด ลูกมีปัญหา เป็นเด็กเกเร และสร้างความเดือดร้อนให้สังคม
ด้วยปมวัยเด็กมักมีผลต่อจิตใต้สำนึกของทุก ๆ คนไม่ว่าจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่อายุขนาดไหนแล้วก็ตาม ดังนั้นหากรู้ว่าตนเองเคยทำผิดพลาดกับลูกจนอาจสร้างปมบางอย่างให้เขา ยอมรับและปรับตัวใหม่ มอบความอบอุ่น ใกล้ชิด ก็ยังไม่สายเพื่อลดผลกระทบระยะยาว